หนองใน (Gonorrhea) สาเหตุที่เป็นหนองในและการรักษา

หนองใน หรือ โรคโกโนเรีย (Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กามโรค) ที่พบได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการมักเป็นรุนแรงและชัดเจนจนผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาการจะดีขึ้นได้เองเพียงเล็กน้อย แต่ตัวโรคยังคงเป็นอยู่ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

สาเหตุที่เป็น หนองใน (Gonorrhea

หนองในเกิดจากการติดเชื้อหนองในซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ไนซีเรีย โกโนเรียอี” (Neisseria gonorrhoeae) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “โกโนค็อกคัส” (Gonococcus ) ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและสารน้ำในช่องคลอด จึงถ่ายทอดผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเจริญได้ดีในที่ชื้นและที่อบอุ่นของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ตั้งแต่ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก ท่อปัสสาวะ (ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง) นอกจากนี้ยังสามารถเจริญในบริเวณอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ทวารหนัก เยื่อบุตา ช่องปากคอ เป็นต้น

  • กิจกรรมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อหนองใน : มักติดมาจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยจากการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ช่องปาก ทวารหนัก องคชาต โดยอาจมีหรือไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจติดได้จากมารดาสู่ทารกในระหว่างการคลอดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงได้อีกด้วย (เฉพาะในสตรี เชื้อสามารถแพร่จากช่องคลอดไปสู่ทวารหนักได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก)
  • กิจกรรมที่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อหนองใน : ได้แก่ การจับมือ, การกอด, การจูบ, การใช้แก้วน้ำ จาน ชามร่วมกัน, การใช้ห้องน้ำหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน, การนั่งฝาโถส้วม, การใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน (เชื้อหนองในไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสระว่ายน้ำหรือในโถส้วม ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่คนปกติทั่วไปจะติดเชื้อหนองในจากสระน้ำหรือโถส้วม) เป็นต้น ส่วนการมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้มือหรือนิ้วช่วย ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าสามารถทำให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อได้
  • กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดโรคหนองใน : ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่น, ผู้ติดยาเสพติด, ผู้ที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน, ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์, ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้มาแล้ว หรือเคยเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคซิฟิลิส (Syphilis)
  • ระยะฟักตัวของโรค : หลังจากได้รับเชื้อมักจะแสดงอาการภายใน 2-10 วัน แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะแสดงอาการภายใน 5 วัน

การรักษาหนองใน

  • หากสงสัยว่าเป็นหนองใน ควรตรวจยืนยันด้วยการนำหนองไปย้อมสีและส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือนำไปเพาะเชื้อ ถ้าพบว่าเป็นโรคหนองในจริง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะขนานใดขนานหนึ่ง
  • เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคหนองในแท้มักจะเป็นหนองในเทียมจากการติดเชื้อ (Chlamydia) ร่วมด้วยประมาณ 30% แพทย์จึงมักรักษาไปพร้อมกันทั้งสองโรคด้วยการให้ยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ไปกินครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
  • ผู้ที่เป็นหนองในควรได้รับการเจาะเลือดตรวจวีดีอาร์แอล (VDRL – Venereal Disease Research Laboratory) เพื่อให้แน่ใจว่าตนไม่มีการติดเชื้อซิฟิลิสร่วมด้วย ถ้าผลตรวจวีดีอาร์แอลเป็นผลบวกหรือที่เรียกว่า “เลือดบวก” ก็แสดงว่าเป็นซิฟิลิส โดยควรตรวจตั้งแต่ครั้งแรกก่อนให้การรักษาและตรวจซ้ำอีกครั้งในอีก 3 เดือนถัดไป นอกจากนี้ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) และโรคไวรัสตับอักเสบบีพร้อมกันไปด้วย
  • ในผู้หญิงที่มีอาการหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะร่วมกับมีไข้สูง ปวดท้องน้อย ขัดเบา ตกขาว อาจเป็นปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เกิดภาวะมีบุตรยาก ผู้ป่วยอาจต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดแก้ไข
  • ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นหนองใน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคนี้ให้หายขาด มิฉะนั้น ลูกอาจติดเชื้อในระหว่างคลอด ทำให้ตาอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดได้ หรืออาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของลูกได้ (ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงมีการหยอดตาทารกแรกเกิดด้วย 1% Silver Nitrate ทุกรายเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อชนิดนี้) นอกจากนี้โรคหนองในที่มีอาการรุนแรง ยังอาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย

วิธีป้องกัน โรคหนองใน

  1. เลือกมีคู่นอนเพียงคนเดียว และจะแน่นอนยิ่งขึ้นหากคู่นอนได้รับการตรวจแล้วว่าไม่มีการติดเชื้อใด ๆ
  2. หลีกเลี่ยงการเที่ยวกลางคืนหรือการสำส่อนทางเพศ และถ้าจะหลับนอนกับคนอื่นหรือคนที่สงสัยว่าจะเป็นหนองใน ควรใช้ถุงยางอนามัยเสมอ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้เกือบ 100% (ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ อาจจะได้ผลไม่เต็มที่ และยังมีโอกาสติดเชื้อได้บ้าง)
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือฟอกล้างสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย
  4. กินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคภายหลังการร่วมเพศอาจได้ผลบ้าง แต่ต้องเป็นยาชนิดและขนาดเดียวกันกับที่ใช้ในการรักษา (ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยคุ้มเท่าใดนัก สู้รอให้มีอาการแสดงออกมาแล้วค่อยรักษาไม่ได้ อีกทั้งยังไม่อาจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ได้)
  5. การกินยาล้างลำกล้อง ซึ่งเป็นยาระงับเชื้อ (Antiseptic) ไม่ใช่ยาทำลายเชื้อ จึงไม่ได้ผลในการป้องกัน (ยานี้กินแล้วจะทำให้ปัสสาวะเป็นสีแปลก ๆ เช่น สีแดง สีเขียว)